วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2557

หนังใหญ่วัดบ้านดอน




ประวัติหนังใหญ่วัดบ้านดอน


ตามที่ได้สอบถามผู้สืบสานหนังใหญ่โรงวัดบ้านดอน และจาก ท่านพระครูปัญญาวุฒิกร อดีตเจ้าอาวาส ตลอดจนทายาทของเจ้าของหนังใหญ่ ก็ได้ความว่า หนังชุดนี้มีอายุประมาณ 200 ปี รับงานแสดงมีชื่อเสียงอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย จนกระทั่ง พระยาศรีสมุทรโภค ชัยโชติสงคราม (เกตุ ยมจินดา) ซึ่งเป็นคนเก่าที่มีชื่อหมายเลข 1 ของทำเนียบผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง แต่ไม่ระบุ พ.ศ. ที่ดำรงตำแหน่ง จึงไม่ทราบแน่ชัด ได้ทราบกิตติมาศักดิ์ของหนังใหญ่ชุดนี้ ซึ่งกำลังแสดงอยู่ที่จังหวัดพัทลุง ก็ได้ติดต่อซื้อมาทั้งชุดประมาณ 200 ตัว และได้จ้างครูหนังหรือนายโรงนี้มาเป็นครูฝึกถ่ายทอดให้กับคนในปกครองของพระยาศรีสมุทรโภค ชัยโชคชิตสงคราม เพื่อสืบทอดต่อมา ข่าวจากเครือญาติท่านเล่าว่า ในการนำหนังใหญ่ที่ซื้อจากจังหวัดพัทลุงมานี้ได้นำมาทางเรือแล่นข้ามอ่าวไทยฝ่าคลื่นใหญ่ลมแรง หนังมนุษย์ซึ่งซ้อนอยู่ข้างบนบางตัวหล่นลงทะเล ต้องตามเก็บ ตัวสำคัญคือนางสีดา (นางเอก) ช่วยกันหาอยู่นานก็ยังไม่พบผลสุดท้ายพบได้ คือติดอยู่ที่หางเรือสำเภา หนังที่ซื้อมาทางภาคใต้ จะเป็นฝีมือของช่างสมัยใด ที่ไหน
ไม่ทราบลายละเอียด ระยะหลังนำแสดงที่วัดจันทอุดม (วัดเก๋ง) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลระยอง (เหลือเจดีย์ให้เป็นประวัติอยู่เพียงองค์เดียวทางด้านทิศตะวันออก ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานกับกรมศิลปากรแล้ว) ถือว่าเป็นวัดประจำจังหวัด หลังจากนำไปแสดงในงานสำคัญๆแล้วก็เก็บรักษาไว้ที่นั่น หลังจากนั้นประมาณ พ.ศ. 2430 เศษ วัดบ้านดอนได้สร้างขึ้นแล้ว และผู้แสดงประจำหนังโรงนี้ที่ฝึกรับ
ถ่ายทอดมาจาก ครูประดิษฐ์ ครูหนังคนเดิมที่มาสอนให้ ก็เป็นคนชาวบ้านชากใหญ่ใกล้วัดบ้านดอน ปี่พาทย์ก็เป็นคนชาวทุ่งโพธิ์ไม่ห่างไกล ง่ายกับการนัดฝึกซ้อมและนำไปแสดงตามที่จังหวัดต้องการ จึงได้นำหนังใหญ่มาถวายวัด บ้านดอน อำเภอเมืองจังหวัดระยอง ผู้ที่รับมอบเป็นครูหนัง คือ นายเรือง นางแจ่ม รื่นเริง ได้ฝึกลูกหลานและชาวบ้านได้เล่นสืบต่อมา ปี่พาทย์ใช้ของ นายถั่ว ดนตรี ผู้ร่วมพากย์สืบทอดกันมาคือ นายสวม เป็นธรรม , นายช่ำ ขุมวรณ์อาภรณ์รัตน์ , ศึกษาเขียว โสภณ เมื่อ นายเรือง รื่นเริง ชรามากก็ได้มอบให้ นายสี รื่นเริง ผู้เชิดร่วมโรงซึ่งเป็นบุตรรับมอบเป็นครูหนังใหญ่ต่อมา และเมื่อเข้าวัยชราก็ได้มอบให้ นายเฉลิม มณีแสง เป็นครูหนัง พากย์ร่วมกับ นายเจิม ขอบอรัญ ต่อมา นายเฉลิม มณีแสง ถึงแก่กรรม นายถ่อย หวานฤดี ผู้เคยรับยื่นเป็นครูหนังพร้อมกับ นายเฉลิม มณีแสง เป็นครูหนังประจำวัดบ้านดอนนี้สืบต่อมา ส่วนเรื่องปี่พาทย์นั้นสืบทอดจาก นายถั่ว ดนตรี ก็คือ นายสาย วง นายฟุ้ง ชาวดอน ก็ไปร่วมแสดงกันด้วย และทยอยกันเสียชีวิต ปัจจุบันก็ใช้วง นายฉลอม พุทธมี และฝึกนักเรียนเข้าร่วมเล่นด้วย เนื่องจากหนังใหญ่ชุดนี้เป็นมรดกตกทอดมานาน ลวดลายสวยงามและเข้าใจว่าเป็นฝีมือช่างหลวง ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นมหรสพโบราณ ครูแรง มหรสพที่มาเล่นงานเดียวกันต้องมาคารวะครูหนัง ดังนั้นเวลาเก็บไว้ที่วัดจะเก็บไว้ในที่สูง ไม่ให้ผู้ใดเข้าไปเล่นหรือรบกวน ภัยธรรมชาติอาจทำให้สูญเสียไปตามกาลเวลา ตับคาบตัวหนังทำด้วยไม้ผุกร่อนได้ง่าย จึงจำต้องดูแลใกล้ชิด คนรุ่นหลังได้เข้ามาศึกษาดูแล หลังจากว่างเว้นการแสดงมานานหนังเก่าจึงผุพังลดจำนวนลงไป พร้อมๆกับคนรุ่นเก่าที่สูญเสียชีวิต เราเห็นความสำคัญควรอนุรักษ์และสืบทอดมรดกไทย จึงได้ฟื้นฟูดังปรากฎในปัจจุบัน จุดเริ่มต้นในระยะหลัง ในคราวประกวดหมู่บ้านดีเด่น หมู่ที่ 1 ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง (บ้านชากใหญ่) พ.ศ.2523 ได้นึกถึงงานศิลปวัฒนธรรมและการละเล่นที่เคยแสดงกันมา จึงได้ฟื้นฟูฝึกซ้อมหนังใหญ่ออกแสดง ทั้งงานหมู่บ้าน งานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี งานสงกรานต์และเผยแพร่รายการโทรทัศน์ช่อง 5 ในปีพ.ศ. 2524 มีคณะกรรมการฟื้นฟูดูแลเป็นคณะกรรมการอนุรักษ์หนังใหญ่วัดบ้านดอน ช่วงนั้น ปู่สี รื่นเริง เป็น-นายโรง และชราภาพจึงได้มอบ นายเฉลิม มณีแสง และ นายเจิม ขอบอรัญ รับช่วงเป็นนายพากย์ และผู้พากย์ ฝึกซ้อม และนำออกแสดงเผยแพร่ตามโอกาส ทางวัดบ้านดอน มีโครงการสร้างอาคารเก็บหนัง และซ้อมตัวหนังเพิ่มเติมจากที่ชำรุด พระครูปัญญาวุฒิกร อดีตเจ้าอาวาส ได้สร้างอาคารที่เก็บไว้ 1 หลัง และเปิดใช้เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2534 ซึ่งเป็นวันที่บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด ได้มาทอดกฐินวัดบ้านดอนร่วมกับชาวบ้าน ต่างก็ชื่นชมและอนุรักษ์หนังใหญ่ไว้สืบไป เมื่อมีอาคารเก็บหนังเก่า ก็คาดว่าตัวหนังจะคงอยู่ไปได้อีกนาน จึงได้ปรับปรุงไม้หนีบตัวหนัง (ตับหนีบ) จากเดิมซึ่งเป็นไม่ไผ่ ไม้หมาก ให้เป็นไม้เหลาชะโอน ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งที่ทนทานและศึกษาเรื่องการเก็บรักษา เห็นว่าการเก็บแบบวางเรียงคงจะสภาพดีจึงทำที่เก็บเพื่ออนุรักษ์ไว้ใช้เป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้า และคิดสร้างตัวหนังใหญ่โดยการลอกแบบ เลือกตัวหนังตามเรื่องราวที่ นายอำนาจ มณีแสง ได้รับถ่ายทอดมาจาก นายเฉลิม มณีแสง ซึ่งเป็นครูหนัง โดยร่วมมือกับผู้ที่คณะกรรมการมอบหมาย คือ นายประเทือง เขตสมุทร พท. พายับ เป็นธรรม นายอุดม นัทธีประทุม และ นางสาว อุษา โชติกุล พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาตินครราชสีมา ดำเนินการลอกแบบและติดต่อช่างจัดทำ ทางวัดก็พยายามหาทุนทรัพย์จับจ่ายไป ได้รับความร่วมจากทุกฝ่าย ได้ตัวหนังใหม่มาร่วมแสดงกับตัวหนังเก่าอีก 77 ตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น